แนวโน้ม เศรษฐกิจที่กลับมาสดใสอีกครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจคลังสินค้ามีความคึกคักขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปีนี้ ภาพรวมของธุรกิจคลังสินค้าจะเติบโตอยู่ในราว 5.3% – 7.6% หรือมีมูลค่าประมาณ 71,400 – 73,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมาภาพของธุรกิจคลังสินค้าอาจไม่ใช่ธุรกิจที่หวือหวา แต่นี่คือกลไกลสำคัญอีกส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทุกๆ การค้า การขาย จะออนไลน์ หรือออฟไลน์ ล้วนต้องมีคลังสินค้าเป็นที่เก็บสินค้า หรือชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่างๆ ในการผลิต ยิ่งการค้า การลงทุนคึกคักมาก ความต้องการคลังสินค้าก็มีมากขึ้นตามเป็นเงา
เหมือนดังเช่นการเติบโตของ ทิพย์โฮลดิ้ง ผู้พัฒนาโครงการคลังสินค้ารายใหญ่ของสมุทรปราการ ทำเลทองของคลังสินค้าในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี จากโครงการแรก จนวันนี้ก้าวมาถึงคลังสินค้าโครงการที่ 8 ด้วยแนวคิดในการบริหารคลังสินค้าว่า
“ลูกค้าคือครอบครัวที่เราพร้อมจะดูแลไปตลอดชีวิต”
คลังสินค้าพาครอบครัวผ่านวิกฤต
พิบูลย์ศักดิ์ ไกรศักดาวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทิพย์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า เดิมบริษัทดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งโครงการที่พักอาศัย และคลังสินค้า ในย่านจังหวัดสมุทรปราการ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เหลือเพียงธุรกิจคลังสินค้าที่ยังสามารถสร้างรายได้ และเลี้ยงครอบครัว จนลูกทั้ง 4 คนที่เรียนอยู่ต่างประเทศ สามารถเรียนจบได้ บริษัทจึงหันมาโฟกัสธุรกิจคลังสินค้าอย่างเต็มตัว
โครงการ TIP 1 บนถนนเทพารักษ์ กิโลเมตรที่ 16 พื้นที่หมื่นกว่าตารางเมตร ในปี 2537 เป็นเพียงการลงทุนง่ายๆ วางรากฐานบนพื้นดินให้แน่นป้องกันการทรุดตัว แล้วสร้างโกดังเปล่าๆ ให้ลูกค้ามาเช่าเก็บสินค้า พิบูลย์ศักดิ์เองก็คิดว่า คงทำเพียงเท่านี้ เพราะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น อย่าง คอนโดมิเนียม หรือบ้านจัดสรร ขายได้เร็ว และมีกำไรมากกว่า แต่เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ถาโถมสู่ประเทศไทย เขาก็เปลี่ยนความคิด
“ในปี 2540 ผมลำบากมาก ลูกทั้ง 4 คนที่เรียนเมืองนอก ประสบปัญหาค่าเงินบาทลอยตัว เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว แต่เป็นเพราะโครงการ TIP1 ที่ยังสามารถเก็บค่าเช่าได้ต่อเนื่อง ช่วยจนลูกได้เรียนจบทั้ง 4 คน ทำให้ผมและครอบครัวมีความสำนึกว่า ธุรกิจคลังสินค้า คือส่วนสำคัญที่ทำให้ครอบครัวเราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้นเราจึงหันหน้ามาสู่ธุรกิจคลังสินค้า และจะทำธุรกิจต่อไปแม้สถานการณ์ธุรกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม”
ผ่านมา 20 ปี ถึงวันนี้ ทิพย์โฮลดิ้งเติบโตในธุรกิจคลังสินค้า มาถึงโครงการที่ 8
คุณภาพนำสู่ความสำเร็จ
พรเทพ ไกรศักดาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท ทิพย์โฮลดิ้ง จำกัด เผยว่า โครงการ TIP ทั้ง 8 โครงการ มีพื้นที่รวม 5.4 แสนตารางเมตร มีลูกค้ามากกว่า 500 บริษัท โดยปัจจุบัน มีการจำหน่ายคลังสินค้าออกไปบางส่วน ทำให้มีพื้นที่ที่บริหารเองอยู่ราว 2 แสนตารางเมตร มีลูกค้าอยู่ราว 200 ราย โดยคิดเป็นอัตราการเช่าอยู่ราว 92% ของพื้นที่ทั้งหมด
ความสำเร็จของทิพย์โฮลดิ้ง ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง เพราะทำเลพื้นที่สมุทรปราการ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีการแข่งขันด้านคลังสินค้าอยู่สูงที่สุด 1 ใน 2 แห่งของประเทศไทย ร่วมกับพื้นที่ชลบุรี นอกจากนั้น ทิพย์โฮลดิ้ง ยังเป็นเพียงบริษัทจำกัด ที่ใช้เงินในบริษัทมาลงทุน ต่างจากหลายๆ รายที่เป็นบริษัทมหาชน สามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ แต่ทิพย์โฮลดิ้งก็ยังสามารถบริหารคลังสินค้าประสบความสำเร็จจน CB Ricard Ellis บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของโลก ยกให้ทิพย์โฮลดิ้ง เป็นคลังสินค้าระดับแนวหน้า 1 ใน 3 ของสมุทรปราการ
พรเทพ กล่าวว่า โครงการ TIP1 บนถนนเทพารักษ์ กม. 16 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยกอบกู้ครอบครัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เมื่อตนเรียนจบด้านวิศวะโยธามา มีแนวคิดที่จะสร้างคลังสินค้าให้มั่นคงแข็งแรง ให้ดีมากขึ้น จึงเกิดเป็นโครงการ TIP2 และมีการปรับปรุงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับทั้งคำติติง คำแนะนำจากลูกค้า รับมาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณภาพการก่อสร้างและการให้บริการให้เช่าคลังสินค้าโครงการต่อมาดีขึ้นเรื่อยๆ มาถึงโครงการ TIP 5-6-7 และ 8 ที่เทพารักษ์ กม.19 จนวันนี้ลูกค้าของทิพย์โฮลดิ้งทั้งที่เป็นบริษัทในประเทศไทย และบริษัทข้ามชาติจากนานาประเทศให้การยอมรับในมาตรฐานและบริการของเรา
โดยทำเลที่ตั้งของโครงการ TIP ทั้งหมดตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นทำเลทองของการคมนาคม ทั้งอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และใกล้กรุงเทพมหานคร รวมถึงอยู่ใกล้คลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ทำให้โครงการไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหาที่สำคัญคือ พื้นที่สมุทรปราการซึ่งเป็นดินเลน มีปัญหาทรุดตัวของดินค่อนข้างรุนแรง ทำให้การก่อสร้างต้องมีคุณภาพสูงสุด
“จุดเด่นของโครงการ คือ คุณภาพ เป็นสิ่งสำคัญ ลูกค้าที่มาหาเรา บางรายย้ายมาจากที่อื่น เราถามว่า ประสบการณ์ที่เขาเจอจากคลังสินค้าเดิมที่เคยใช้บริการ เขาต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร หากเขาบอกได้ ในระหว่างที่เรากำลังก่อสร้าง เราก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ หรือเราสามารถตอบโจทย์ประสบการณ์ที่เขาเคยเจอมาในอดีตว่าเขาไม่อยากได้คลังแบบนั้น ต้องการคลังแบบนี้ เพื่อให้ได้คลังสินค้าที่ต้องการอย่างแท้จริง” พรเทพกล่าว
พรเทพ กล่าวว่า การทำคลังสินค้า ประสิทธิภาพของคลังสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคุณสมบัติพื้นโดยเฉพาะความเรียบสม่ำเสมอ ความแข็งแกร่งของผิวหน้าคอนกรีต หากพื้นที่เก็บสินค้า เรียงสินค้าขึ้นไปในแนวสูงได้ ก็จะช่วยประหยัด และใช้ประโยชน์ได้สูงสุด แต่หากพื้นไม่เรียบหรือทรุดก็ไม่สามารถทำได้ ทิพย์โฮลดิ้ง มีการลงทุนวางโครงสร้างพื้นทั้งระบบด้วยงบลงทุนก้อนใหญ่ ลงเข็มที่มีขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งในส่วนภายในตัวอาคารและภายนอกอาคาร รวมถึงบนถนนภายในโครงการ ที่สามารถป้องกันการทรุดตัวได้อย่างถาวร
“วิวัฒนาการในคลังสินค้า เทคโนโลยีก้าวไปไกล ตัวอุปกรณ์เก็บของหรือชั้นวางในแนวดิ่งเก็บได้สูงขึ้น ระนาบความเรียบของพื้นที่สามารถให้อุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานได้ในคลังสินค้านั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ความใส่ใจของคนสร้าง ถ้าความเรียบของพื้นไม่ได้จริงๆ งารถยกหรือรถโฟล์คลิฟที่จะตักสินค้าจากชั้นวาง ก็จะตักไม่ได้ เท่ากับสร้างสูงไปโดยไม่มีประโยชน์ ในธุรกิจนี้เป็นปัญหากันมาก แต่ละรายพยายามสร้างคลังสินค้าใหญ่ และสูง แต่ปรากฏว่าพื้นไม่ได้ระดับ ไม่ได้ระนาบ ใช้อุปกรณ์พวกนี้ไม่ได้ กลายเป็นว่าคลังไม่เซฟตี้ ไม่มีความปลอดภัย ในการใช้อุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ ก็จะเกิดปัญหา”
นอกจากนั้น ในส่วนของหลังคาคลังสินค้า ทิพย์โฮลดิ้ง เป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทย ที่มีหลังคาที่ใช้วัสดุคุณภาพสูงเพื่อป้องกันการลามไฟ และรองรับฝนตกหนัก สามารถเก็บกักน้ำได้ไม่ล้น และป้องกันหลังคารั่ว
บริการครบวงจรเหมือนครอบครัว
ไม่เพียงแต่ด้านคุณภาพและโครงสร้างอาคารคลังสินค้า ในส่วนของบริการหลังการขาย ทิพย์โฮลดิ้ง ก็มีการจัดตั้งบริษัท งานสมบูรณ์ ขึ้น โดย พรสิน ไกรศักดาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท ทิพย์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า งานสมบูรณ์มีทีมก่อสร้าง In House 300 คน โดยงานบริการซ่อมแซมจำนวนประมาณ 80% ของการซ่อมเล็กนั้น บริษัทฯสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายใน 3 ชั่วโมง รวมถึงมีทีมช่างรับเหมาเอาท์ซอร์ท ที่สามารถเข้ามาดูแลการซ่อมแซม ต่อเติม แม้จะเป็นคลังสินค้าที่ลูกค้าซื้อขาดไปแล้วก็ตาม
แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้ทิพย์โฮลดิ้ง สามารถชนะใจลูกค้าจนทำให้มีการแนะนำลูกค้าต่อกันมา คือการให้บริการแบบ Full Services ที่ดูแลลูกค้าตั้งแต่การติดต่อกับส่วนราชการในการเข้ามาทำธุรกิจ ช่วยลูกค้าปรับปรุง แก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตามกฏระเบียบ ได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้อง จนสามารถเข้ามาดำเนินกิจการได้ และดูแลอำนวยความสะดวกต่อไปตลอดเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
“เขาไม่ต้องมาซื้อพื้นที่ ไม่ต้องมาเสี่ยงกับผู้รับเหมา ไม่ต้องห่วงว่าสร้างเสร็จแล้ว ขอใบอนุญาตไม่ได้ เราดูแลเขาตั้งแต่ต้นจนจบ จนผู้ประกอบการสามารถเปิดกิจการ แม้กระทั่งบางครั้ง ต้องการเพิ่มสเป็ค เช่น เพิ่มไฟ กั้นห้อง ทำห้องเย็นเล็กๆ เราสามารถทำเพิ่มได้ เป็น Value Added ที่เราทำให้เขาได้ หรือจะเลือกให้บริษัทรับเหมา ที่เป็นบริษัทลูกทำให้ในราคาที่สบายใจ หรือจะให้เราแนะนำผู้รับเหมาอื่นให้ก็ได้”
พรสินกล่าวต่อว่า โลโก้สัญลักษณ์ของทิพย์โฮลดิ้ง เป็นรูปทรงโค้ง หมายถึงความ Flexible ที่สามารถปรับเปลี่ยน เลือกได้ทุกความต้องการ ตั้งแต่เช่าก่อนแล้วซื้อ หรือต้องการเช่า ต้องการซื้อก็ได้ จะให้เราช่วยอะไรก็ได้ เราขอเป็นพ่อบ้านที่ดี ซึ่งสิ่งนี้ทำให้วันนี้ ลูกค้าในโครงการจำนวน 70-80% เป็นลูกค้าที่ประทับใจในคุณภาพและการบริการแล้วแนะนำต่อกันมา โดยบริษัทไม่เคยออกไปโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ
ด้าน ฐานวัฒน์ ไกรศักดาวัฒน์ กรรมการ บริษัท ทิพย์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการหลายราย ไม่จำเป็นต้องเลือกที่ตั้งที่ใดที่หนึ่งเป็นพิเศษเพื่อจะได้สิทธิ BOI ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาหาคลังสินค้า ก็จะมองที่การหาคนงาน หาแรงงาน การคมนาคม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของทิพย์โฮลดิ้ง เป็นบริษัทข้ามชาติที่เดินทางมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะได้รับความสะดวก เดินทางมาถึงคลังสินค้าได้ในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง และเข้าสู่สำนักงานในกรุงเทพฯ ก็เพียงหนึ่งชั่วโมง ทำเลจึงเป็นส่วนสำคัญที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และบริการที่ดีก็เป็นส่วนที่ช่วยสร้างความประทับใจให้ลูกค้าบอกต่อกันไป
ฐานวัฒน์ เล่าถึง ลูกค้าในอุตสาหกรรมรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นรายหนึ่ง ที่เคยติดต่อขอเช่าคลังสินค้าของทิพย์โฮลดิ้งเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่เวลานั้นอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มซบเซาจากผลกระทบกำลังซื้อที่ลดลงเพราะถูกดึงไปจากโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้ลูกค้ารายนั้นถอนตัวไป แต่ขณะนี้ตลาดรถยนต์กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ลูกค้ารายนั้นก็ติดต่อกลับมาอีกครั้ง และมีแผนจะลงทุนในครึ่งปีแรกของปีหน้า ก็มีการติดต่อกลับมา พร้อมจะเช่าคลังสินค้าของทิพย์โฮลดิ้ง และไม่สนใจที่จะไปชลบุรี เลือกที่อยู่สมุทรปราการ เนื่องจากประทับใจในการบริการ การให้คำปรึกษาของทิพย์โฮลดิ้ง และซัพพลายเออร์ของบริษัทนี้ก็ตั้งอยู่ในโครงการของทิพย์โฮลดิ้ง และบอกกล่าวถึงความประทับใจต่อกันมา
จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ค่าเฉลี่ย Occupancy rate โครงการใหม่ที่เปิดไม่เกิน 2 ปี บางแห่งยังสร้างไม่เสร็จจบทั้งโครงการดี ทิพย์โฮลดิ้งก็สามารถปล่อยเช่าได้ไม่น้อยกว่า 80% ในช่วง เฉพาะ 2 ปีแรก แต่ตอนนี้รวมทั้ง 8 โครงการที่สร้างเสร็จแล้ว มีอัตราเช่าอยู่ที่ประมาณ 92%
ขยายธุรกิจไม่หยุด มุ่งสร้างรายได้ให้ประเทศ
ทั้งนี้ ประธาน และผู้ก่อตั้ง บริษัท ทิพย์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า แม้วันนี้โครงการทิพย์โฮลดิ้ง จะก่อสร้างมาแล้วถึง 540,000 ตารางเมตร แต่นโยบายของทิพย์โฮลดิ้ง ก็ยืนยันที่จะสร้างโครงการต่อไป แม้จะได้กำไร ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เพราะตนเชื่อมั่นว่า เป็นการทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเคียงคู่กับการเติบโตของประเทศ
“ในอดีตผมเคยทำธุรกิจตั้งแต่ที่ดินราคาตารางเมตรละ 1,000 บาท ปัจจุบัน ราคาที่ดินตารางเมตรละ 10,000 บาท แต่ผมก็ยังเดินหน้าทำ ผู้ประกอบต่างประเทศเขาชำนาญทำธุรกิจในอุตสาหกรรมตัวเอง แต่ไม่มีความชำนาญในการก่อสร้าง ก็ต้องมีคนก่อสร้างให้เขา กฎหมายเมืองไทยมีมากมาย กฎหมายผังเมือง ทำเล การก่อสร้าง ใบอนุญาตต่างๆ บริษัทต่างประเทศเวลาเข้ามา ไม่รู้เรื่อง เราต้องดำเนินงานให้ มีบริการให้เขา เขาจะได้นำเงินเข้ามาลงทุน สร้างงานและรายได้ให้กับประเทศไทย”
ทิพย์โฮลดิ้ง ยังมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วสมุทรปราการ และพร้อมที่จะขยายโครงการ TIP ต่อไปเรื่อยๆ เพราะการเติบโตของทิพย์โฮลดิ้ง ก็คือการ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนจากนานาประเทศ ในการเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยปีละมหาศาลนั่นเอง
25 January 2018
Viewed 22407 time